
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ
เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ
เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย
หรือทูลกระหม่อมติ๋ว อันเป็นพระนามที่เรียกในหมู่พระประยูรญาติและข้าราชบริพาร
ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ในรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ ประสูติเมื่อวันที่
๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ ณ พระตำหนักมรกฎสุทธิ์ เกาะสีชัง
จังหวัดชลบุรี เมื่อเจริญพระชันษาได้เสด็จไปทรงศึกษา
ณ ประเทศอังกฤษ นอกจากวิชาการหลักทรงได้ศึกษาวิชาการดนตรีและการละคร
ที่ทรงโปรด นับเป็นชาวเอเชียพระองค์แรกที่มีความสามารถในการดีดพิณใหญ่
๔๗ สาย ซึ่งเรียกว่า ฮาร์พ นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการทรงเปียโนและไวโอลิน
เมื่อสำเร็จการศึกษาทรงนำฮาร์พและเปียโนคู่หลังใหญ่กลับมาเมืองไทย
ส่วนดนตรีไทย สามารถทรงระนาดและฆ้องวง
สำหรับวิชาการละครนั้น
ทรงศึกษาวิธีการแสดง การจัดโรงละคร เครื่องแต่งกายให้เหมาะกับยุคสมัย
การใช้ดนตรีประกอบการแสดง ตลอดจนการจัดฉากแสงและเสียง
ทรงมีส่วนผลักดันให้เกิดหนังสือตำนานการฟ้อนรำขึ้น
และทรงสนพระทัยในการแสดงละครดึกดำบรรพ์ จึงทรงนิพนธ์บทละครดึกดำบรรพ์ด้วยกัน
๓ เรื่องคือ สองกรวรวิก จันทกิรี และพระยศเกตุ
เกี่ยวกับด้านการช่างนั้น
ทรงมีพื้นฐานมาแต่ทรงพระเยาว์ และทรงโปรดวิชาการแขนงนี้เป็นอย่างยิ่ง
ทรงมีความรู้ทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม การตกแต่งภายใน
เฟอร์นิเจอร์ที่ทำด้วยไม้ ตลอดจนเครื่องประดับต่าง
ๆ รวมทั้งวิชาการถ่ายภาพด้วย
เมื่อเสด็จกลับจากทรงศึกษาต่างประเทศ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินก่อสร้างวังในบริเวณพระราชวังปทุมวัน
ได้รับพระราชทานนามว่า วังเพ็ชรบูรณ์ ทรงควบคุมดูแลการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด
โปรดให้สร้างตำหนักแรก คือ ตำหนักประถม ซึ่งเป็นตำหนักไม้สัก
๒ ชั้น ใต้ถุนสูง และตำหนัก รวมทั้งสิ่งก่อสร้างอื่น
ๆ อีกหลายรายการ เนื่องจากความสนพระทัยในการละครและดนตรีของไทย
จึงโปรดให้ตั้งชื่อตำหนักและสถานที่ต่าง ๆ ตามชื่อเพลงไทยเดิมทั้งสิ้น
อาทิ ตำหนักสันนิบาตน้อย เรือนกินนรรำ เรือนลมพัดชายเขา
เป็นต้น
ด้านการทรงงาน
ด้วยความมุ่งมั่นพระทัยที่จะทรงรับราชการเป็นพระอาจารย์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก จึงทรงมีลายพระหัตถ์ไปยังเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
(สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เพื่อให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
และได้รับพระบรมราชานุญาตตามพระประสงค์ต่อมา ทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าอาจารย์พระองค์แรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและของประเทศไทย
ทรงมีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ ทรงสอนวิชาภาษาอังกฤษของคณะรัฐประศาสนศาสตร์
เริ่มทรงงานเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๑
|